สาเหตุของความขัดแย้ง และชนวนสงคราม ของ สงครามกลางเมืองอเมริกา

สาเหตุของสงครามเกิดจากความแตกต่างระหว่างรัฐแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีรูปแบบและวิถีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ รัฐทางใต้มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการใช้แรงงานทาสในการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ และมีพลเมืองส่วนมากเป็นคนชาติพันธ์แองโกล-แซกซอน ที่นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ และพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก นอกจากนี้การเมืองและระบบเศรษฐกิจภายในรัฐยังถูกควบคุมโดยคนรวยที่ถือครองทาส[9] ระบบความคิดจึงเป็นไปในทางอนุรักษ์นิยม และนิยมเชื้อชาติ โดยยึดมั่นในอัตลักษณ์ความเป็น "ชาวใต้" (Southerner) มากกว่าความเป็นอเมริกัน[10] ในทางกลับกัน รัฐทางตอนเหนือเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่มีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด ไม่พึ่งพาแรงงานทาสมากนัก และมีประชากรจากหลายเชื้อชาติในยุโรปอพยพเข้ามาใหม่อยู่ตลอดเวลา[11] ทำให้เป็นสังคมหลากเชื้อชาติและวัฒนธรรม มีระบบความคิดที่ก้าวหน้ามากกว่า เมื่ออับราฮัม ลินคอล์นซึ่งมีแนวคิดไม่ประนีประนอมกับสถาบันทาสอย่างชัดเจน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาแบบท่วมท้น ในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 1860 ทำให้ประชากรผิวขาวใน 11 รัฐทางตอนใต้ไม่พอใจอย่างยิ่ง และรู้สึกว่าการแยกตัวเป็นอิสระเป็นทางเลือกเดียวที่จะรักษาสถาบันทาสไว้ได้[12] เนื่องจากเห็นว่าพวกตนไม่มีผู้แทนอยู่เลยในสภาคองเกรส จนในที่สุดก็รวมกันแยกตัวออกไปจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในนามว่าสมาพันธรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861

การกดขี่และใช้แรงงานทาส

เฟรเดอริค ดักลาส ชาวอเมริกันผิวดำที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ให้มีการเลิกทาส

ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องการมีและใช้แรงงานทาส ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1850 เป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่ง ที่ทำให้อเมริกาถูกแยกออกเป็นสองประเทศ แต่เดิมทีนั้นคนอเมริกันที่อาศัยในรัฐทางตอนเหนือช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่ก็มิได้มีความรู้สึกเป็นอคติต่อการมีทาส[13] และในมุมมองของพวกที่ต่อต้านสถาบันทาสเอง ประเด็นเรื่องการมีทาสก็ถูกจำกัดอยู่ในบริบทที่ว่ามันเป็นความชั่วร้ายที่ล้าสมัย และขัดแย้งกับหลักการของสาธารณรัฐนิยมเท่านั้น แม้ในส่วนของรัฐบาลกลางเอง รัฐธรรมนูญสหรัฐในขณะนั้นก็มีบทบัญญัติรับรองชัดเจนว่าทาสที่หลบหนีจะต้องถูกส่งคืนเจ้าของ[14] และคองเกรสก็ออกกฎหมายไล่ล่าทาสที่หลบหนี (Fugitive Slave Act) เพื่อยืนยันสิทธิดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 1793 โดยกำหนดโทษจำคุกสำหรับผู้ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ทาสที่หลบหนี ยุทธวิธีหลักที่พวกต่อต้านสถาบันทาสใช้จึงเน้นที่การกักกันสถาบันทาสให้อยู่แต่ในภาคใต้ โดยออกกฎหมายในระดับมลรัฐลงโทษการกระทำอันเป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือติดตามทาสที่หลบหนี เพื่อไม่ให้มีการจับทาสที่หนีมาได้กลับไปเป็นทาสอีก เช่น กฎหมายเพื่อการเลิกทาสอย่างค่อยเป็นค่อยไปของมลรัฐเพนซิลวาเนีย ที่แก้ไขในปี 1826 - วัตถุประสงค์ก็เพื่อหยุดการขยายตัวของวงจรค้าทาส และปล่อยให้ค่อยๆล้าสมัยจนสูญพันธ์ไปเอง แต่รัฐทางใต้ที่ยังใช้แรงงานทาสเห็นว่าวิธีการนี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน และเป็นการมุ่งทำลายเศรษฐกิจของรัฐทางใต้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะความต้องการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฝ้ายจากอเมริกาในภาคพื้นยุโรปที่มีสูงมาก[15] รัฐภาคใต้มองว่าหากไม่มีแรงงานทาส ตนก็ไม่อาจแข่งขันกับอุตสาหกรรมสิ่งทอผ้าฝ้ายที่กำลังเติบโดอย่างรวดเร็วในรัฐทางตอนเหนือ และในยุโรปได้ นายทาสจากรัฐทางใต้จึงพยายามใช้วิธีทั้งทางการเมืองและกฎหมาย เข้าขัดขวางนโยบายควบคุมสถาบันทาสของรัฐทางเหนือ

ในปี ค.ศ. 1837 ทาสหญิงผิวดำที่เจ้าของเพิ่งเสียชีวิตไป ชื่อ มาร์กาเร็ต มอร์แกน ย้ายภูมิลำเนาจากรัฐแมรีแลนด์ไปยังเพนซิลวาเนีย และถูกจับโดยนักล่าทาส (slavecatcher) ชื่อ เอ็ดเวิร์ด ปริกก์ (Edward Prigg) นายปริกก์ถูกจับกุมฐานละเมิดกฎหมายของรัฐเพนซิลวาเนีย และถูกพิพากษาว่ามีความผิด จำเลยจึงอุทธรณ์ไปยังศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา ในประเด็นที่ว่ากฎหมายแก้ไข ปี ค.ศ. 1826 ของรัฐเพนซิลวาเนียขัดต่อ "fugitive slave clause" ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ มาตรา 4 ข้อที่ 2 วรรคสาม และขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในระดับสหพันธรัฐที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า ศาลสูงสุดสหรัฐพิพากษา ในคดี "ปริกก์ กับ มลรัฐเพนซิลวาเนีย" (Prigg v. Pennsylvania)[16] ปี ค.ศ. 1842 ว่ากฎหมายของเพนซิลวาเนียขัดต่อรัฐธรรมนูญตามทีผู้ร้องอ้าง เนื่องจากปฏิเสธสิทธิของนายทาสตามกฎหมายไล่ล่าทาสที่หลบหนีที่จะติดตามเอาทาสของตนคืน

บรรดามลรัฐปลอดแรงงานทาส ตอบโต้คำพิพากษาคดี ปริกก์ ด้วยการออกกฎหมายเสรีภาพส่วนบุคคล (personal liberty laws) ประเภทต่างๆขึ้น เพื่อห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย กระทำการใดๆที่เป็นการริดรอนเสรีภาพส่วนบุคคล เช่น การขัดขวางการหลบหนีของทาส หรือการเลือกปฏิบัติกับนิโกรไม่ว่าจะเป็นทาสหรือไม่[17] แต่รัฐทางใต้ก็โต้ว่ากฎหมายเสรีภาพส่วนบุคคลพวกนี้ เป็นการใช้อำนาจของรัฐเพื่อริดรอนสิทธิใน "ทรัพย์สิน" ของเอกชน

ปัญหาการผนวกดินแดน และการประนีประนอม ปี 1850

ข้อเสนอให้ขยายเส้นแบ่งเขตรัฐเสรี-รัฐทาส ตามการประนีประนอมมิสซูรี ออกไปทางตะวันตก ถูกเสนอขึ้นในระหว่างการปราศัยสภาคองเกรส ว่าด้วยการผนวกรัฐเท็กซัสในปี ค.ศ. 1845 และถูกยกขึ้นอีกครั้งระหว่างช่วงวิกฤตการแยกดินแดน ปี ค.ศ. 1860 ในการประนีประนอมคริตเตนเดน

การขยายตัวอย่างรวดเร็วมากของดินแดนในอาณัติของสหรัฐ ระหว่างการประกาศอิสรภาพจนถึงช่วงสงครามกลางเมือง เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่างคตินิยมที่สนับสนุนสถาบันทาส และคตินิยมที่สนับสนุนแผ่นดินที่ปลอดทาส (free soil)[18] ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19 สหรัฐอเมริกาได้ที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งการซื้อ การเจรจา และการสงคราม เริ่มจากการได้รับโอนพื้นที่ลุยเซียนามาจากนโปเลียนในปี ค.ศ. 1803 ต่อมาการออกเสียงให้ผนวกเอาเท็กซัส (ซึ่งประกาศตัวเป็นอิสรภาพจากเม็กซิโกใน ปี 1836) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาใน ปี ค.ศ. 1845 กลายป็นชนวนก่อให้เกิดสงครามเม็กซิโก-อเมริกา ในระหว่างปี ค.ศ. 1846-1848 ชัยชนะของอเมริกาในสงครามดังกล่าว เป็นผลให้สหรัฐได้ผนวกดินแดนใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก[19] แต่การขยายดินแดนอย่างต่อเนื่องก็ก่อให้เกิดปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการมีทาสในดินแดนที่ถูกผนวกเข้ามา ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทิศทางทางเศรษฐกิจในพื้นที่ใหม่ โดยก่อนหน้านี้ การประนีประนอมมิสซูรี ปี ค.ศ. 1820 (Missouri Compromise) ตกลงห้ามการขยายตัวของสถาบันทาสไปในพื้นที่ตอนเหนือของพื้นที่รับโอนหลุยส์เซียนาที่ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นเขตปกครอง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยอมให้มีการสถาปนามิสซูรีขึ้นเป็นรัฐที่การมีทาสเป็นสิ่งถูกกฎหมาย[20] สำหรับกรณีพิพาทในพื้นที่รับมาใหม่หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา มีการเสนอ เงื่อนไขวิลม็อท (Wilmot Proviso) ขึ้น โดยเงื่อนไขนี้ต้องการให้ดินแดนใหม่ที่ผนวกเข้ามาใหม่เป็นดินแดนที่ปลอดจากสถาบันทาส แต่ในขณะนั้นนักการเมืองจากฝ่ายใต้ครองที่นั่งมากกว่าในวุฒิสภา เงื่อนไขวิลม็อทจึงถูกบล็อกและได้รับการโหวตให้ตกไป[21]

การประนีประนอมเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1850 โดยมีการแก้ไข พ.ร.บ.ไล่ล่าทาสหลบหนี ให้เข้มงวดขึ้นไปอีก เพื่อชดเชยกับการยอมให้รัฐแคลิฟอร์เนียที่รับเข้ามาใหม่เป็นรัฐปลอดทาส[19] มีการกำหนดโทษกับผู้รักษากฎหมายในมลรัฐใดๆที่ไม่ยอมปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายนี้ ดังนั้นสำหรับรัฐทางฝ่ายเหนือแล้ว กฎหมายไล่ล่าทาสหลบหนีฉบับแก้ไขปี 1850 จึงมีนัยว่าประชาชนอเมริกันทั่ว ๆ ไปก็มีหน้าที่ต้องให้ความช่วยเหลือนักล่าทาสหลบหนีจากทางใต้ ความรู้สึกต่อต้านสถาบันทาสในจิตใจคนอเมริกันจึงเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง มีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในเครือข่ายทางรถไฟใต้ดินของขบวนการเลิกทาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง[19] แม้ในทางวรรณกรรมเอง งานประพันธ์อย่าง "กระท่อมน้อยของลุงทอม" (Uncle Tom's Cabin) ของแฮเรียต บีเชอร์ สโตว์ก็มุ่งโจมตีพลวัตอันชั่วร้ายของสถาบันทาสที่คอยแยกสมาชิกในครอบครัวออกจากกัน[22][23] กระท่อมน้อยของลุงทอม กลายเป็นหนังสือขายดีมากเป็นประวัติการณ์ มีตีพิมพ์ทั่วโลกกว่า 1.5 ล้านเล่ม แต่ความสำเร็จอย่างล้นหลามนี้ถูกมองว่าเป็นการโจมตีเกียรติยศของชาวรัฐทางใต้ ทำให้เกิดกระแสตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนจากฝ่ายที่สนับสนุนสถาบันทาส จนถึงขนาดว่ามีวรรณกรรมแนว "แอนตี้-ทอม" หรือแนวสนับสนุนสถาบันทาส ออกมาแข่ง[24]

"พวกทาสหลบหนีปลอดภัยในแดนแห่งเสรี" ภาพประกอบ โดย แฮมแมต บิลลิ่งส์ ใน กระท่อมน้อยของลุงทอม, พิมพ์ครั้งแรก. ในภาพแสดง จอร์จ แฮริส, เอลิซา, แฮรี่, และ คุณนาย สมิธ หลังจากหลบหนีไปสู่อิสรภาพ

กฎหมายแคนซัส-เนบราสกา

แม้ประชากรส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาศัยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือ จะไม่เห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่งสถาบันทาส แต่การแทรกแทรงโดยตรงจากรัฐสภาให้มีการยกเลิกหรือเพียงแต่จำกัดการขยายตัวของสถาบันทาสไม่ว่าในพื้นที่ใดของสหรัฐ ก็ยังเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง เนื่องจากแนวคิดทางกฎหมายรัฐธรรมนูญในขณะนั้นยังไม่มีบทคุ้มครองห้ามเลือกปฏิบัติต่อประชาชนอเมริกันด้วยเหตุผลทางสีผิว หรือศาสนา และยังคงถือว่าแต่ละรัฐมีอำนาจจะกำหนดสิทธิหน้าที่ (ซึ่งรวมถึงสิทธิเลือกตั้ง) ของพลเมืองในรัฐอย่างไรก็ได้ แนวคิดหนึ่งที่ยอมรับอย่างกว้างขวางคือ การถือว่าประเด็นเรื่องสถาบันทาสเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยของปวงชน (popular sovereignty)[25] มากกว่าที่จะเป็นการเมืองในรัฐสภา และคนท้องถิ่นย่อมมีสิทธิจะโหวตเสียงกำหนดเอาเองในพื้นที่ที่ตนอาศัยหรือที่ตนเข้าไปบุกเบิก แนวคิดเรื่องอธิปไตยปวงชนนี้ถูกสอดเข้าไปในนโยบายของรัฐบาลกลาง ที่สนับสนุนการขยายการตั้งรกรากของประชากรเข้าในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการบุกเบิกในทิศตะวันตก ตัวอย่างที่สำคัญ คือ กฎหมายแคนซัส-เนบราสกา (Kansas-Nebraska) ปี 1854 ซึ่งร่างโดย วุฒิสมาชิก สตีเฟน เอ. ดักลาส[26] กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์จะให้คนเข้าไปจับจองพื้นที่ทำกินตามแนวทางรถไฟข้ามประเทศที่กำลังก่อสร้าง โดยผนวกเอาแนวคิดเรื่องอธิปไตยของปวงชนไว้ แต่กลับเป็นว่านำไปสู่การนองเลือดที่รู้จักกันในชื่อ "แคนซัสหลั่งเลือด" (Bleeding Kansas)[26] เมื่อนักบุกเบิกอุดมการณ์ "แผ่นดินเสรี" (free soilers) เข้าปะทะกับนักบุกเบิกที่สนับสนุนสถาบันทาสจากรัฐมิสซูรีใกล้เคียง ซึ่งแห่กันเข้ามาในแคนซัสเพียงเพื่อที่จะออกเสียงลงมติรับรัฐธรรมนูญของรัฐ การใช้ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่นานหลายปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหกสิบคน และอาจถึงสองร้อยคนภายในแค่สามเดือนแรก[27]

ศาลสูงสุดเข้าแทรกแซง: คำพิพากษาคดี เดร็ด สก็อตต์

แนวคิดเรื่องการกำหนดความชอบด้วยกฎหมายของสถาบันทาสโดยทางอธิปไตยปวงชนได้รับการปฏิเสธจากฝ่ายตุลาการสูงสุด[28] ในปี ค.ศ. 1857 ในคำพิพากษาคดี เดร็ด สก็อตต์ กับ แซนด์ฟอร์ด (Dred Scott v Sandford)[29] ตุลาการหัวหน้าศาล โรเจอร์ บี. ทอนีย์ (Roger B. Taney) พิพากษาว่า ไม่มีบทบัญญัติหรือหลักกฎหมายในในสหรัฐ ที่จะห้ามมิให้นาสทาสพาหรือติดตามทาสของตน เข้าไปในดินแดนบุกเบิกใหม่ของประเทศ โดยตุลาการทอนีย์เห็นว่า "คนนิโกรที่บรรพบุรุษถูกซื้อขายเข้ามาในประเทศนี้ในฐานะทาส" ไม่ว่าจะยังป็นทาสอยู่ หรือได้รับอิสระแล้วก็ดี ไม่อาจมีฐานะเป็นประชาชนอเมริกันได้ และย่อมไม่มีอำนาจที่จะเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ ในศาลสหพันธรัฐ และรัฐบาลสหพันธรัฐย่อมไม่มีอำนาจใดๆที่จะออกกฎหมายควบคุมการมีทาสในดินแดนของสหพันธรัฐ ที่ได้รับมาหลังการก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา" นอกจากนี้เนื้อหาในตอนหนึ่งของคำพิพากษาประกาศว่า

"[พวกนิโกร]เป็นพวกที่ถูกถือว่าเป็นมนุษย์ในอันดับที่ด้อยกว่า มาเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ จึงย่อมเป็นการไม่เหมาะสมในทางใดๆที่จะนำพวกนี้มาเปรียบเทียบกับคนผิวขาว ไม่ว่าจะในทางความสัมพันธ์ทางสังคม หรือในทางการเมือง; และต่ำชั้นกว่าอย่างไกลลิบ จนถึงขนาดว่าพวกนี้ไม่มีสิทธิใดๆที่คนผิวขาวจำเป็นจะต้องเคารพ; และพวกนิโกรจึงอาจลดฐานะลงมาเป็นทาสเพื่อประโยชน์ของคนขาว โดยชอบด้วยความยุติธรรม และโดยชอบด้วยกฎหมาย"

– Dred Scott v. Sandford, 60 U.S. 393 (1857)
โรเจอร์ บี. ทอนีย์, ตุลาการหัวหน้าศาลแห่งศาลสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนคำพิพากษาคดี เดร็ด สก็อต
วุฒิสมาชิก จอห์น เจ. คริตเตนเดน

คำพิพากาษาคดี เดร็ด สก็อตต์ (Dred Scott) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งโดยสื่อ และนักการเมืองฝ่ายเหนือซึ่งถือว่าคำพิพากษานี้ขัดต่อหลักเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ อับราฮัม ลินคอล์น ตอบโต้คำพิพากษานี้ในคำปราศัย "ครัว​เรือน​ไหน​แตก​แยก​กัน​เอง ครัว​เรือน​นั้น​​จะ​ตั้ง​อยู่​ไม่​ได้" ("House Divided Against Itself Cannot Stand")[30] ของตนที่รัฐอิลินอยส์ ในปีเดียวกัน โดยเตือนถึงภัยของคำพิพากษา Dred Scott ที่จะเปลี่ยนอเมริกาทั้งประเทศให้กลายเป็นดินแดนที่การมีทาสเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมาย และท่านยังทำนายว่าอเมริกาจะไม่แบ่งแยกตลอดไป แต่มีชะตากรรมที่จะต้องเปลี่ยนไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหากไม่ใช่ว่าการมีทาสจะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายทั้งประเทศ ก็ต้องเป็นว่าการมีทาสจะต้องไม่มีอยู่อีกต่อไป[31] นอกจากนี้คำพิพากษาเดรด สก็อต ยังมีส่วนผลักดันให้ขบวนการนักเลิกทาสปฏิบัติการก้าวร้าวขึ้นไปอีก อย่างเช่น กรณีนักเลิกทาส จอห์น บราวน์ ที่พยายามติดอาวุธให้กับทาสผิวดำเพื่อให้ก่อจลาจลที่ ฮาร์เปอร์ส เฟอร์รี่ (Harper's Ferry) เวอร์จิเนีย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1859

การเลือกตั้งประธานาธิบดี กับวิกฤติการแยกดินแดน

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) มีขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน และเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันประเทศอเมริกาเข้าสู่สงครามกลางเมือง ประธานาธิบดี เจมส์ บูแคนัน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น เป็นชาวอเมริกันทางตอนเหนือที่มีความคิดเห็นเข้าข้างฝ่ายใต้ ประธานาธิบดีบูแคนันมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการทำให้เนื้อคำพิพากษาคดี เดร็ด สก๊อต ออกมากว้างในลักษณะเป็นคุณกับนายทาสเช่นนั้น โดยบูแคนันเป็นคนเขียนจดหมายชักจูงให้ตุลาการสมทบแห่งศาลสูงสุดสหรัฐ โรเบิร์ต เกรีย (Robert Grier) โหวตร่วมกับฝ่ายเสียงข้างมากในคณะศาลให้ สก็อตต์ ทาสผิวดำแพ้คดี[32] เพื่อให้ศาลเขียนคำพิพากษาปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลกลางในประเด็นที่เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสถาบันทาสแบบเด็ดขาด การเข้ากดดันตุลาการในคดี เดร็ด สก็อตต์ ของ ปธน. บูแคนันกลายเป็นเรื่องอื้อฉาว และก่อเกิดผลสะท้อนกลับเชิงลบทางการเมืองต่อพรรคเดโมแครตเป็นอย่างยิ่ง ความไม่พอใจในคำพิพากษา เดร็ด สก็อตต์ ของชาวอเมริกันในรัฐทางเหนือ ช่วยให้พรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะได้ที่นั่งสภาผู้แทนเพิ่มในการเลือกตั้งกลางเทอม ปี 1858[33] และเข้าควบคุมได้ทั้งสภาคองเกรสในการเลือกตั้งใหญ่ ปี 1860

สว.สตีเฟน เอ. ดักลาส จากอิลินอยส์ เป็นตัวแทนผู้ลงสมัครฯ ของพรรคเดโมแครตฝ่ายเหนือ
จอห์น ซี. เบรกคินริดจ์ รองปธน.สหรัฐ (1857-1861) และผู้ลงสมัครฯของพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้
อับราฮัม ลินคอล์น
ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐ (1861–1865)

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี ค.ศ. 1860 ของพรรครีพับลิกันซึ่งนำโดยอับราฮัม ลินคอล์น เป็นผลมาจากความระส่ำระสายภายในของพรรคเดโมแครต เนื่องจากตัวแทนจากรัฐทางตอนใต้ซึ่งเป็นพวกสนับสนุนสถาบันทาส และคำพิพากษา เดร็ด สก็อตต์ พากัน "วอล์กเอ้าท์" จากการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครต เพื่อประท้วงการที่ที่ประชุมปฏิเสธไม่รับมติสนับสนุนนโยบายขยายสถาบันทาส[34] โดยการใช้กฎหมายทาส (slave codes) ในทุกพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา สมาชิกของพรรคเดโมแครตจึงแตกออกเป็นฝ่ายเหนือและใต้ โดยสมาชิกพรรคฝ่ายใต้เป็นพวกสนับสนุนคำพิพากษาคดีเดร็ด สก็อตต์ ฝ่ายนี้จึงแยกตัวออกมาเลือก นายจอห์น ซี. เบรกคินริดจ์ (John C. Breckinridge) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดี มาเป็นผู้แทนลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้[34] ในขณะที่ นายสตีเฟน เอ. ดักลาส ตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งเดโมแครตฝ่ายเหนือ และเป็นผู้ร่างกฎหมาย แคนซัส-เนบรากา ที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องการกำหนดความชอบด้วยกฎหมายของสถาบันทาสโดยทางอธิปไตยปวงชน (กล่าวคือประสงค์จะให้สภาคองเกรสทำตัวเป็นกลาง ไม่เข้าแทรกแทรงไม่ว่าจะเพื่อจำกัด หรือสนับสนุนการขยายตัวของสถาบันทาสไปในพื้นที่ใหม่ๆของสหรัฐ) ก็ได้รับความนิยมทางตอนเหนือสู้ลินคอล์นไม่ได้[34] ลินคอล์นจึงกวาดคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ไปแบบท่วมท้น และเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ปี 1860 แม้ว่าจะได้รับคะแนนนิยมทั่วประเทศเพียงแค่ 40%[34] กลายเป็นผู้สมัครพรรครีพับลิกันคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี

รัฐทางใต้ทยอยแยกตัว

สิ่งพิมพ์โฆษณาการประกาศแยกตัวออกของรัฐเซาท์แคโรไลนา

การเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 1860 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการครองอำนาจทางการเมืองในอเมริกาของฝ่ายใต้ เนื่องจาก 2 ใน 3 ของจำนวนประธานาธิบดีทั้งหมดล้วนมาจากภาคใต้ นับแต่ จอร์จ วอชิงตัน ได้รับเลือกเป็น ปธน. คนแรกในปี ค.ศ. 1789 ความพ่ายแพ้นี้ทำให้รัฐฝ่ายใต้รู้สึกถูกบีบคั้นอย่างมาก และกลายเป็นจุดแตกหักทางการเมือง โดยเพียงสองเดือนหลังชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วประเทศของลินคอล์น มลรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีที่สำคัญที่สุดในการผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิของมลรัฐที่จะปกครองและกำหนดตนเอง (state rights) ก็ประกาศแยกตัวออกเป็นรัฐแรก[35] ในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 1860 มลรัฐเกษตรกรรมไร่ฝ้ายอีกหกมลรัฐ ได้แก่ มิสซิสซิปปี, ฟลอริดา, แอละแบมา, จอร์เจีย, หลุยส์เซียนา และเท็กซัส ทยอยประกาศแยกตัวออกตามในอีกสองเดือนถัดมา คือระหว่างเดือน มกราคม และกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1861 หกรัฐแรกที่ประกาศแยกตัวมีสัดส่วนของทาสต่อประชากรที่สูงถึงร้อยละ 49[36] แสดงถึงความพึ่งพาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมการเกษตรในระดับที่สูงมาก และรัฐเหล่านี้เชื่อว่าการครองทาสเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ บรรดารัฐที่แยกตัวออกนี้ได้ร่วมกันจัดตั้งเป็น สมาพันธรัฐอเมริกา (Confederacy) ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1861[37] หลังจากจัดตั้งแล้วกองกำลังสมาพัธรัฐก็เริ่มโจมตีทรัพย์สินและป้อมค่ายของรัฐบาลกลางโดยแทบไม่พบการต่อต้านเลย เนื่องจากประธานาธิบดี เจมส์ บูแคนัน แห่งพรรคเดโมแครตกำลังจะหมดวาระ และบูแคนันอ้างว่า "อำนาจที่จะใช้กำลังอาวุธ เพื่อบังคับให้มลรัฐคงอยู่ในสหภาพต่อไปนั้น ไม่ได้อยู่อำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้สภาคองเกรส"[38] อย่างไรก็ดี ทั้งรัฐบาลเดโมแครตของ ปธน.บูแคนัน และฝ่ายพรรครีพับลิกันที่กำลังจะเข้ามาบริหาร ต่างก็ประณามการแบ่งแยกดินแดนว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็พยายามจะประนีประนอมในประเด็นเรื่องการมีทาสอยู่ การประนีประนอมคริตเตนเดนถูกเสนอขึ้นโดยวุฒิสมาชิก จอห์น เจ. คริตเตนเดน ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1860 เพื่อแก้ปัญหาการขอแยกดินแดน โดยเสนอให้รื้อฟื้นเอาเส้นพรมแดนระหว่างรัฐเสรี-รัฐทาส ตามการประนีประนอมมิสซูรี ปี 1820 กลับมาใช้ใหม่โดยให้ขยายออกไปทางฝั่งตะวันตก ทั้งยอมให้รัฐทางใต้สามารถคงระบอบทาสไว้ได้แบบถาวร และให้สามารถป้องกันทาสหลบหนีได้ด้วย ข้อเสนอนี้เป็นที่พอใจของฝ่ายใต้ แต่ในที่สุดก็ถูกปัดให้ตกไปทั้งโดยสภาผู้แทนฯสหรัฐ และวุฒิสภาสหรัฐฯ เนื่องจากพรรครีพับลิกันมองว่าเป็นข้อเสนอที่รับไม่ได้เพราะเท่ากับว่ายอมให้มีการขยายตัวของสถาบันทาสไปในพื้นที่ใหม่ๆของสหรัฐได้[39] ความหวังสุดท้ายที่จะรักษาสหภาพไว้จึงหมดลงไป

ลินคอล์นให้สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่ง

ลินคอล์นเข้าสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งหน้าอาคารรัฐสภาที่ยังสร้างไม่เสร็จ

อับราฮัม ลินคอล์น เข้าสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 ท่านกล่าวในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ความพยายามแยกรัฐออกเป็นอิสระย่อมเป็นโมฆะ แต่ก็ให้คำยืนยันว่ารัฐบาลของตนจะไม่เริ่มต้นสงครามกลางเมือง โดยกล่าวต่อ "รัฐทางใต้" ว่า "ข้าพเจ้าไม่มีจุดมุ่งหมายโดยตรงหรือโดยอ้อมที่จะแทรกแทรงสถาบันการครองทาสที่ยังมีอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าพเจ้าไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะทำเช่นนั้น"[40] ลินคอล์นทำอย่างดีที่สุดที่จะใช้สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งในการหว่านล้อมเพื่อนร่วมชาติ ให้หันมาปรองดองกัน ให้เห็นถึงความเป็นครอบครัวอเมริกันครอบครัวเดียวกัน ดังพูดคำปิดท้ายสุนทรพจน์

พวกเราไม่ใช่ศัตรูกัน เราเป็นเพื่อน เราจะเป็นศัตรูกันไม่ได้ ถึงความรู้สึกจะบอบช้ำไปบ้าง แต่จะให้สิ่งนี้มาทำลายสายใยของมิตรภาพหาได้ไม่ สายพิณที่น่าพิศวงของความทรงจำ ที่โยงเอาทุกสมรภูมิรบ กับหลุมศพของวีรบุรุษ เข้ากับทุกหัวใจที่ยังมีชีวิตอยู่ และหินหน้าเตาไฟของทุกครัวเรือน ทั่วดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลนี้ จะยังส่งเสียงประสานของความกลมเกลียวแห่งสหภาพอย่างแน่นอน ยามเมื่อมันถูกดีดให้ดังขึ้นอีกครั้ง โดยเทวทูตที่ดีกว่าของธรรมชาติเรา

– อับราฮัม ลินคอล์น, สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งครั้งแรก, 4 มี.ค. 1861[41]

แต่หลังจากกองกำลังสมาพันธรัฐ เคลื่องทัพเข้ายึดครองป้อมและทรัพย์สินของรัฐบาลกลางหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ความพยายามที่จะประนีประนอมก็พังทลายลง ลินคอล์นปฏิเสธไม่รับค่าชดเชยราคาทรัพย์สินที่เสียหาย หรือถูกทำลายโดยกองกำลังสมาพันธรัฐ โดยอ้างว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะไม่เจรจา หรือเข้าทำสัญญากับองค์กรที่ไม่มีความชอบธรรมตามกฎหมาย[42] ทั้งสองฝ่ายจึงหันมาเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม

การจัดตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา

วิวัฒนาการของสมาพันธรัฐอเมริกา, ระหว่าง 20 ธันวาคม 1860 ถึง 15 กรกฎาคม 1870

สมาพันธรัฐอเมริกาถูกจัดตั้งขึ้นในระหว่าง การประชุมมอนต์กอเมอรี ณ รัฐแอละแบมา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861 - หนึ่งเดือนก่อนที่ลินคอล์นจะเข้าสู่ตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม ในระยะแรกมีรัฐเข้าร่วมจัดตั้ง ​6 รัฐ ได้แก่ เซาท์แคโรไลนา, มิสซิสซิปปี, ฟลอริดา, แอละแบมา, จอร์เจีย และลุยเซียนา โดยมีเท็กซัสเป็นรัฐเข้าร่วมสังเกตการณ์ (ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาพันธรัฐ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1861) และมีนาย เจฟเฟอร์สัน เดวิส เป็นประธานาธิบดี เมืองหลวงในระยะแรกอยู่ที่เมืองมอนต์กอเมอรี รัฐแอละแบมา ต่อมามีมลรัฐเข้าร่วมเพิ่มอีก 4 มลรัฐ รวมทั้งสิ้น 11 มลรัฐ และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย ในวันที่ 30 พฤษภาคม ในปีเดียวกัน

เปิดฉากการสู้รบ: ยุทธการที่ฟอร์ทซัมเทอร์

ดูบทความหลักที่: ยุทธการที่ฟอร์ทซัมเทอร์
การชุมนุมใหญ่ วันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1861, เพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่รูปปั้นวอชิงตันบนหลังม้าที่ยูเนียนสแควร์นครนิวยอร์ก

ป้อมซัมเทอร์ หรือ ฟอร์ทซัมเทอร์ เป็นป้อมปราการของรัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งอยู่กลางท่าเรือเมืองชาล์สตัล มลรัฐเซาท์แคโรไลนา ในขณะที่กองกำลังสมาพันธรัฐยกพลมาถึงนั้น กองกำลังของรัฐบาลกลางได้ถูกถอนออกไปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดปะทะกับพลเรือนติดอาวุธ (militia) ในพื้นที่ แต่เดิมรัฐบาลของ ปธน.บิวแคนัน ต้องการให้ทางป้อมถอนกำลังออกไป แต่รัฐบาลใหม่ของลินคอล์นออกคำสั่งให้ทหารรักษาป้อมไว้ก่อน จนกว่าจะถูกยิงใส่ ดังนั้นเมื่อ พันตรีโรเบิร์ต แอนเดอร์สัน นายทหารบัญชาการของฝ่ายสหภาพไม่ปฏิบัติตามคำเรียกร้องให้ยอมจำนนของทางฝ่ายสมาพันธรัฐ เจฟเฟอร์สัน เดวิส จึงสั่งให้ นายพลจัตวา พี. จี. ที. โบรีการ์ด ยิงโจมตีป้อมก่อนที่กองหนุนจะมาถึง กองกำลังของโบรีการ์ดจึงเริ่มยิงโจมตีป้อม เมื่อวันที่ 12 เมษายน 1861 ยิงอยู่สองวันป้อมก็แตก โบรีการ์ดเคยเป็นนักเรียนภายใต้การฝึกสอนของพันตรีแอนเดอร์สันมาก่อนสมัยยังเรียนอยู่ที่เวสต์พอยน์

การโจมตีฟอร์ทซัมเทอร์ เป็นการปลุกกระแสชาตินิยมอเมริกันให้แพร่กระจายไปทั่วทางตอนเหนือ[43] พันตรีแอนเดอร์สันกลายเป็นวีรบุรุษของชาติไปในชั่วข้ามคืน ฝ่ายเหนือเริ่มระดมกำลังตอบโต้ มีการนัดพบ พูดคุยปราศัย ฝ่ายเอกชนก็ช่วยระดมเงิน ส่วนในท้องที่ต่างๆก็มีการระดมกำลังพล ทั้งฝ่ายผู้ว่าการรัฐและฝ่ายนิติบัญญัติก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะตอบโต้[44][45]

อย่างไรก็ดี ความกระตือรือร้นที่จะสู้กลับในภาคเหนือ สะท้อนว่าฝ่ายสหภาพยังประมาทและยังประเมินสเกล หรือขนาดของสงครามที่จะตามมาต่ำเกินไป เพราะขณะนั้นคนส่วนใหญ่ยังคิดว่ามีเพียงรัฐไม่กี่รัฐทางตอนใต้ที่คิดแยกตัวออกจากสหภาพ[46] ปธน. ลินคอล์น เรียกร้องให้ทุกมลรัฐส่งกำลังทหารไปยึดเอาป้อมซัมเทอร์ และทรัพย์สินอื่นๆของรัฐบาลกลางคืน โดยในเบื้องต้นลินคอล์นขอกำลังอาสาสมัครเพียง 75,000 นาย สำหรับประจำการเพียง 90 วันเท่านั้น[47] ผู้ว่ารัฐแมสซาชูเซตส์ส่งหน่วยรบของรัฐลงใต้โดยทางรถไฟในวันถัดไป ส่วนในทางตอนใต้รัฐมิสซูรี พวกหนุนแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ได้เข้ายึดคลังแสงลิเบอร์ตี้ (Lierty Arsenal)[48] ปธน.ลินคอล์นต้องประกาศขออาสาสมัครเพิ่มอีก 42,000 คน ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1861

ในระยะนี้มีรัฐพรมแดน เหนือ-ใต้ ประกาศแยกตัวเพิ่มอีก 4 รัฐ[49] คือ เวอร์จิเนีย, เทนเนสซี, อาร์คันซัส และ นอร์ทแคโรไลนา โดยแต่เดิมรัฐเหล่านี้วางท่าที ไม่ยอมถืออาวุธเข้าห้ำหั่นกับรัฐทางเหนือที่เป็นเพื่อนบ้าน การแยกตัวออกของรัฐเวอร์จิเนียทำให้ นายพลโรเบิร์ต อี. ลี ถอนตัวจากกองทัพฝ่ายสหภาพ โดยอ้างว่าไม่สามารถจับอาวุธขึ้นสู้กับบ้านเกิดของตนได้ ทางฝ่ายสมาพันธรัฐอเมริกาตอบแทนรัฐเวอร์จิเนีย โดยการย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ริชมอนด์ เมืองหลวงของเวอร์จิเนีย[50]

ใกล้เคียง

สงครามโลกครั้งที่สอง สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามเวียดนาม สงครามกลางเมืองอเมริกา สงครามอ่าว สงครามเกาหลี สงครามเย็น สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง สงครามแปซิฟิก สงครามครูเสด

แหล่งที่มา

WikiPedia: สงครามกลางเมืองอเมริกา http://www.civilwarhome.com/foxspref.html http://www.essentialcivilwarcurriculum.com/persona... http://www.history.com/topics/missouri-compromise http://www.history.com/topics/wilmot-proviso http://supreme.justia.com/us/41/539/index.html http://www.nytimes.com/1865/05/10/news/important-p... http://www.wiley.com/WileyCDA/WileyTitle/productCd... http://scholarship.kentlaw.iit.edu/cgi/viewcontent... http://mtw160-198.ippl.jhu.edu/journals/civil_war_... //muse.jhu.edu/journals/civil_war_history/v057/57....